วันจันทร์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

บทที่ 1 ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับสารสนเทศ

บทที่ 1
ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับสารสนเทศ

 1.1 กำเนิดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

มนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่มีการตั้งถิ่นฐาน  อยู่กันเป็นหมู่เหล่าตั้งแต่โบราณกาลมาแล้ว  หน่วยเล็กที่สุดของสังคม  คือ  ครอบครัว  ขนาดใหญ่ขึ้นมาเป็น  หมู่บ้าน  ตำบล  อำเภอ  จนในที่สุดเป็นเมือง  และเป็นประเทศ  ตามลำดับ  มนุษย์แต่ละหมู่เหล่ามีการติดต่อสื่อสารพบปะกันเพื่อแลกเปลี่ยนอาหาร สิ่งของเครื่องใช้  ยารักษาโรค  ที่ชุมชนของตนไม่สามารถผลิตได้หรือผลิตได้ไม่เพียงพอ  ฯลฯ  จนเกิดเป็นการค้าขายระหว่างหมู่บ้าน  ตำบล  เมือง  และประเทศขึ้น  การติดต่อในยุคแรกๆ  เป็นการบอกกันปากต่อปาก ต่อมามีการสื่อสารกันด้วยตัวอักษร  ที่จารึกบนวัสดุต่างๆ  ซึ่งกลายมาเป็นการส่งจดหมายถึงกัน  จากนั้นมีการสื่อสารกันด้วยวิธีการที่หลากหลายและมีความรวดเร็วมากขึ้น  ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของเทคโนโลยีโทรคมนาคม  ซึ่งอาศัยหลักวิชาด้านวิศวกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เปลี่ยนคำพูด  ข้อความหรือภาพ    เป็นสัญญาณไฟฟ้าส่งไปตามสาย  หรือเปลี่ยนเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า  เรียกว่า  คลื่นวิทยุกระจายไปในอากาศ  เมื่อถึงปลายทางสัญญาณ  หรือคลื่น ที่ ส่งไปนั้น จะถูกคืนสภาพให้กลับ  เป็นคำพูด  ข้อความ  หรือภาพเหมือนกับสิ่งที่ส่งออกไปจากต้นทาง พัฒนาการของเทคโนโลยีโทรคมนาคมนี้ ทำให้คนที่อยู่คนละซีกโลกกันสามารถรับรู้ข่าวสารของกันและกันได้ภายในชั่วพริบตา เพราะอัตราความเร็วของการเดินทางของสัญญาณไฟฟ้าตามสาย  หรือของคลื่นวิทยุนั้น   อยู่ในระดับเดียวกับความเร็วของแสง  เช่น เหตุร้ายจากการก่อวินาศกรรม  โดยใช้เครื่องบินโดยสารที่ถูกจี้บังคับ  มาชนตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์   ที่นครนิวยอร์ก เมื่อ   วันที่  11 กันยายน   พ.ศ.   2544   นั้นคนทั้งโลกได้เห็นเหตุการณ์สดๆ ผ่านเครือข่ายข่าวโทรทัศน์ของซีเอ็นเอ็น
                เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่พึ่งมีขึ้นในช่วงเวลาประมาณ 20 ปีที่ผ่านมานี่เอง เป็นเทคโนโลยีที่เกิดจากการรวมเทคโนโลยี 2 ประเภทเข้าด้วยกัน คือ
1.             เทคโนโลยีโทรคมนาคม
2.             เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์
             สารสนเทศ หมายถึง ตัวเนื้อหาสาระของข้อมูลข่าวสาร  โดยใช้คอมพิวเตอร์ทำหน้าที่รวบรวม จัดเก็บปรับเปลี่ยนรูปแบบของสารสนเทศและใช้เทคโนโลยีโทรคมนาคมซึ่งพัฒนามาจากเครือข่ายโทรทัศน์และเครือข่ายวิทยุมาสร้างระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ขึ้นเป็นการนำเอาความสามารถของคอมพิวเตอร์ (คำนวณ ประมวลผล เปรียบเทียบ และตรวจสอบ ได้รวดเร็ว ถูกต้องแม่นยำ) มารวมกับความสามารถของระบบโทรคมนาคม (ติดต่อได้รวดเร็วและกว้างไกล)
          ดังนั้นเทคโนโลยีสารสนเทศ จึงหมายถึง เทคโนโลยีที่ใช้ระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์มาจัดการเกี่ยวกับสารสนเทศนั่นเอง

1.2 ประวัติโดยย่อของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

เทคโนโลยีโทรคมนาคม
 
             เทคโนโลยีโทรคมนาคม  เริ่มจากการประดิษฐ์โทรเลขของ  แซมวล  มอร์ส  (Samual Morse) ในปี .ศ. 2380 นับว่าเป็นครั้งแรก ที่ข่าวสารถูกแปลงเป็นสัญญาณไฟฟ้า ส่งไปตามสายเป็นระยะทางไกลๆ ได้โดยอาศัยวิธีการเข้ารหัสตัวอักษร เป็นรหัสอื่นที่ประกอบด้วยจุด (.) และขีด (-) เช่น สัญญาณข้อความช่วยเหลือฉุกเฉิน SOS จะเข้ารหัสเป็น... - - - ... การรับส่งโทรเลขได้ถูกนำมาใช้งานในเชิงการค้าตั้งแต่ พ.ศ. 2387 เป็นต้นมา และในปี พ.ศ. 2401 ได้มีการวางสายเคเบิล ใต้มหาสมุทรแอตแลนติก ทำให้เกิดการสื่อสารข้ามทวีประหว่างทวีปอเมริกากับทวีปยุโรปขึ้นเป็นครั้งแรก
                           
(ก)                                                                                                   (ข)
            (ก)  ภาพแสดงแป้นเคาะโทรเลข มอร์ส เวล  (Morse – Vail)
            (ข)  ภาพแสดงโทรเลขเครื่องพิมพ์เอดิสันสต๊กพรินเตอร์ (Edison Stock Printer)
             ในปี พ.ศ. 2419 อเล็กซานเดอร์ แกรแฮม เบลล์ (Alexander Graham Bell) ได้ประดิษฐ์โทรศัพท์ และได้ตั้งชุมสายโทรศัพท์แห่งแรกที่เมืองนิวเฮเวน รัฐคอนเนตทิคัต สหรัฐอเมริกา จากนั้นเครือข่ายโทรศัพท์ได้ขยายตัวออกไปอย่างรวดเร็ว จนในปัจจุบันสามารถติดต่อสื่อสารกันได้ด้วยระบบโทรศัพท์ทางไกลอัตโนมัติ นับเป็นพัฒนาการอันยิ่งใหญ่ด้านเทคโนโลยีเครือข่ายโทรคมนาคม
           ด้านการสื่อสารไร้สาย ได้มีการพัฒนาการค้นพบคลื่นวิทยุในปี พ.ศ. 2430 โดย ไฮน์ริช แฮตน์
(เฮิร์ต) (Heinrich Hertz) และต่อมาปี พ.ศ. 2437 กูกลิเอลโม มาร์โคนี (Guglielmo Marconi) สามารถประดิษฐ์เครื่องรับส่งวิทยุเครื่องแรกได้สำเร็จ จากนั้นได้มีพัฒนาการทางเทคโนโลยีที่สำคัญหลายอย่าง ดังต่อไปนี้
          ในปี พ.ศ. 2477-2479 จอห์น เฟลมมิง (John Flemming) และ ลี เดอ ฟอเรสต์ (Lee De Forest) ได้ประดิษฐ์หลอดสุญญากาศซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการขยายการแปรรูปสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์
 
            ในปี พ.ศ. 2497 วลาดิเมียร์ สวอริคิน (Vladimir Zworykin) ได้ประดิษฐ์หลอดภาพโทรทัศน์ ซึ่งเป็นที่มาของจอภาพคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน
          ในปี พ.ศ. 2490 ชอกลีย์ บาร์ดีน และ แบรตเทน (Schockley, Bardeen and Brattain) ได้ประดิษฐ์ทรานซิสเตอร์ ซึ่งเป็นที่มาของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบสารกึ่งตัวนำไอซีและซีพียูในคอมพิวเตอร์
          ในปี พ.ศ. 2500 คิลบี และ นอยส์ (Jack Kilby, Robert Noyce) ได้ประดิษฐ์วงจรรวมหรือไอซี ซึ่ง เป็นเทคโนโลยีย่อส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ทำให้คอมพิวเตอร์ในปัจจุบันมีสมรรถนะสูงและมีขนาดเล็ก
         ในปี พ.ศ. 2504 บริษัทเอทีแอนด์ที ได้สร้างดาวเทียมสื่อสาร เทลสตาร์ 1 เป็นดาวเทียมสื่อสารดวงแรกของโลก

1.3 ความหมายและความสำคัญของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

ความหมายของเทคโนโลยีสารสนเทศ
            คำว่า   เทคโนโลยีสารสนเทศ ประกอบคำ 2 คำ ได้แก่ เทคโนโลยี และ สารสนเทศซึ่งแต่ละคำมีความหมายดังนี้
            เทคโนโลยี  (Technology)  เป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษาละตินว่า  TEXERE  มีความหมายตรงกับภาษาอังกฤษ ว่า  toweave  แปลว่า  สาน  เรียบเรียง  ถักทอ ปะติดปะต่อ และ  construct  แปลว่า  สร้าง  ผูกเรื่อง  ความรู้สึกนึกคิดที่ก่อให้เกิด ส่วนเทคโนโลยี ในรากศัพท์ภาษากรีกมาจากคำว่า technologia แปลว่า การทำงานอย่างเป็นระบบ (systematic treatment) (วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม, 2539)
            คาร์เตอร์ วี กู๊ด  (Good, 1973) ได้ให้ความหมายของเทคโนโลยี ว่า หมายถึง การนำเอา วิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้ในวงการต่างๆ โดยทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น
            เอดการ์ เดล (Dale, 1965) กล่าวว่า เทคโนโลยีไม่ใช่เครื่องมือ แต่เป็นแผนการวิธีการทำงานอย่างเป็นระบบที่ให้ผลบรรลุตามแผนการ
            ไฮนิช และ คนอื่นๆ  (Heinech and Others, 1989)   ได้อธิบายว่า เทคโนโลยีจำแนกออกเป็น  3  ลักษณะ คือ
                                             1)  เทคโนโลยีในลักษณะของกระบวนการ (process) เป็นการใช้วิทยาศาสตร์และความรู้ต่างๆ ที่รวบรวมไว้อย่างเป็นระบบเพื่อนำไปสู่ผลในทางปฏิบัติโดยเชื่อว่าเป็นกระบวนการที่เชื่อและนำไปสู่การแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้
                               2)  เทคโนโลยีลักษณะของผลผลิต  (product and product)  หมายถึง  วัสดุและอุปกรณ์ที่เป็นผลมาจากการใช้กระบวนการทางเทคโนโลยี เช่น ฟิล์มภาพยนตร์เป็นผลผลิตของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเช่นเดียวกับเครื่องฉายภาพยนตร์ หรือหนังสือเป็นผลผลิตของเทคโนโลยีเช่นเดียวกับแท่นพิมพ์หนังสือ เป็นต้น
 
                   3)  เทคโนโลยีลักษณะผสมของกระบวนการและผลผลิต  (process and product) ซึ่งใช้ร่วมกันสองลักษณะ เช่น เทคโนโลยีช่วยให้ระบบการรับส่งข้อมูลเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว  ทั้งนี้เป็นผลจากความก้าวหน้าของการประดิษฐ์วัสดุอุปกรณ์เพื่อการรับส่งข้อมูล ตลอดจนเทคนิควิธีการต่างๆ เพื่อให้ระบบส่งข้อมูลเป็นไปได้อย่างกว้างขวางและรวดเร็ว และในลักษณะของกระบวนการซึ่งไม่สามารถแยกออกจากผลผลิตได้  เช่น  ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีการทำงานเป็นปฏิสัมพันธ์กันระหว่างตัวเครื่องกับโปรแกรม เป็นต้น
            ชัยยงค์ พรหมวงศ์ (2520) ได้ให้ความหมายของเทคโนโลยีไว้ว่าตามรูปศัพท์ภาษาอังกฤษคำว่า Technology ซึ่งหมายถึงการปฏิบัติการ และสิ่งประดิษฐ์ที่อยู่ในรูปแบบของการจัดระบบงานอันประกอบด้วยองค์สาม คือ
            1)  ข้อมูลที่ใส่เข้าไป ได้แก่ การกำหนดปัญหาหรือความต้องการ การตั้งวัตถุประสงค์ การรวบรวมข้อมูลหรือวัตถุดิบที่เกี่ยวข้องทุกแง่ทุกมุม
            2)  กระบวนการ ได้แก่ การลงมือปฏิบัติการ การแก้ปัญหา การจำแนกแจกแจง การวิเคราะห์และการสังเคราะห์ข้อมูล   เพื่อให้การดำเนินงานบรรลุวัตถุประสงค์
            3)  ผลลัพธ์ คือ ผลที่ได้จากการแก้ปัญหาหรือการดำเนินงาน สามารถวัดและประเมินผลได้ นอกจากนี้ยังสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ทุกขั้นตอน
ทัศนะเกี่ยวกับเทคโนโลยี
            จากความหมายของเทคโนโลยีดังกล่าวมาแล้ว ทำให้นักการศึกษามีทัศนะหรือความคิดเห็นเกี่ยวกับเทคโนโลยีแตกต่างกัน โดยแบ่งออกเป็น  2  ทัศนะ  คือ
           1.  ทัศนะด้านวิทยาศาสตร์กายภาพ  (science technology)  มุ่งเน้นการพัฒนาวัสดุอุปกรณ์ให้เจริญก้าวหน้าด้วยความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ เพื่อสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการดำเนินงานสาขาต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยทั่วไปวัสดุอุปกรณ์เทคโนโลยีมีองค์ประกอบสำคัญคือ เครื่องยนต์ กลไก ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ อย่างไรก็ตามเครื่องมือหรือวัสดุอุปกรณ์เหล่านี้นักการศึกษาให้ความเห็นว่าเป็นเทคโนโลยีประเภทเครื่องมือ  (Tools technology)
            2.  ทัศนะด้านพฤติกรรมศาสตร์  (behavioral technology)  เป็นเทคโนโลยีที่มุ่งเน้นกระบวนการคิดและการทำงานอย่างเป็นระบบ โดยอาศัยการผสมผสานความรู้จากศาสตร์หลายๆ ด้านเข้าด้วยกัน เช่น มนุษยศาสตร์ จิตวิทยาสังคม  จิตวิทยาการเรียนการสอน  ประวัติศาสตร์  เศรษฐศาสตร์ ฯลฯ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะสำคัญของแต่ละงานในบางสถานการณ์อาจนำวัสดุอุปกรณ์เข้ามาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินงาน  แต่เป็นเพียงเครื่องมือสนับสนุนเท่านั้น
            จากความหมายและลักษณะของเทคโนโลยีดังกล่าวมาแล้วพอสรุปได้ว่า เทคโนโลยี หมายถึง วิธีการหรือกระบวนการในการนำความรู้สาขาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานมาประยุกต์ใช้อย่างเป็นระบบ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นการดำเนินงานที่มีระบบและวิธีการที่ก้าวหน้าจึงนิยมใช้คำว่าเทคโนโลยีนำหน้าเสมอ เช่น เทคโนโลยีการสื่อสาร  เทคโนโลยีการเกษตร  เทคโนโลยีการศึกษา  เทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น
สารสนเทศ (Information)
            ปัจจุบันคำว่าสารสนเทศได้เข้ามามีบทบาทกับวงการต่างๆ  ในสังคมกว้างขวาง  และมักนิยมใช้ควบคู่ไปกับเทคโนโลยีและเรียกเป็นคำเดียวกันว่าเทคโนโลยีสารสนเทศต่อมาเพิ่มเติมเป็นเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร   ซึ่งแต่ละคำมีพัฒนาการที่มีความหมาย  ดังนี้
             คณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติ  (2543)  ได้ให้นิยามของสารสนเทศ ว่า หมายถึง ข้อมูล ข่าวสาร และความรู้ ไม่ว่าจะปรากฏในรูปแบบของตัวอักษร ตัวเลข เสียงและภาพ หรือในรูปแบบอื่นใดที่สื่อความหมายได้ และยังให้ความเห็นว่า สารสนเทศ เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการก่อให้เกิดสังคมแห่งปัญญาและช่วยเกื้อหนุนการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
            สารสนเทศ  หมายถึง  ข้อมูลที่ได้รับตีความ  จำแนกแจกแจง  จัดหมวดหมู่  หรือประมวลผลจนมีสาระอยู่ในตัวมันเอง  สามารถสื่อความหมายให้เกิดการเข้าใจกับผู้ที่ต้องการใช้ข้อมูลนั้น และสามารถที่จะนำไปใช้ประโยชน์ต่อไปได้ โดยข้อมูลที่นำมาประมวลผลนั้นอาจจะมาจากแหล่งต่าง ๆ ทั้งภายในหรือภายนอกองค์การ
เทคโนโลยีสารสนเทศ  (Information Technology)
            เมื่อเนื้อหาข้อมูลมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างมากมายมหาศาล  เราจึงนำคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกในการจำแนก  จัดหมวดหมู่  จัดเก็บข้อมูลและสารสนเทศ  ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นจึงเรียกวิธีการดำเนินงานเช่นนี้ว่าเทคโนโลยีสารสนเทศ  (Information Technology : IT)
             คณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติ (2543) ได้ให้ความหมายของเทคโนโลยีสารสนเทศว่า หมายถึง ความรู้ในผลิตภัณฑ์หรือในกระบวนการดำเนินงานใด ๆ ที่อาศัยเทคโนโลยีซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ การติดต่อสื่อสาร การรวบรวมและการนำข้อมูลมาใช้ทันการเพื่อก่อให้เกิดประสิทธิภาพทั้งทางด้านการผลิต การบริการ การบริหาร และการดำเนินการ รวมทั้งเพื่อการศึกษาและการเรียนรู้  ซึ่งจะส่งผลต่อความได้เปรียบทางด้านเศรษฐกิจ  การค้า  และการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุณภาพของประชาชนในสังคม  ดังนั้นเทคโนโลยีสารสนเทศ จึงเป็นการนำวิทยาการที่ก้าวหน้าทางด้านคอมพิวเตอร์ผสมผสานกับการสื่อสาร ทำให้สารสนเทศมีประโยชน์ในการใช้งานได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น
เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communication Technology)
            ปัจจุบันกระแสโลกาภิวัตน์แผ่อิทธิพลไปสู่สังคมโลกทำให้ข้อมูลข่าวสารสามารถเชื่อมโยงกันแบบเครือข่ายหรือใยแมงมุมได้ทั่วทุกมุมโลกโดยใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีการสื่อสาร เช่น  โทรศัพท์ ดาวเทียม เส้นใยแก้วนำแสง ไมโครเวฟ ผสมผสานกันเพื่อให้สามารถสื่อสารกันได้สะดวกรวดเร็วมากขึ้นเราจึงเรียกกระบวนการนี้ว่า เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร  (Information Communication Technology: ICT)
 
ความสำคัญของเทคโนโลยีสารสนเทศ
            ปัจจุบันเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทอย่างแพร่หลาย  เป็นที่สนใจของคนทุกมุมโลกทุกสาขา สามารถนำมาใช้ในการดำเนินงานและชีวิตประจำวันได้อย่างกว้างขวางการจัดการเรียนรู้และการศึกษาในสมัยนี้จึงมีหลักสูตรที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีเข้าไปด้วย เทคโนโลยีที่มีความสำคัญและเจริญก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ได้แก่ เทคโนโลยีสารสนเทศ  เพราะปัจจุบันนี้อุปกรณ์หลายชนิดก็ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีสารสนเทศ  ไม่ว่าจะเป็น  คอมพิวเตอร์  โทรศัพท์  มือถือ  อินเทอร์เน็ต  PDA  GPS  ดาวเทียมและเมื่อไม่นานมานี้มีการออกพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์  เป็นการบ่งบอกว่าสังคมให้ความสำคัญแก่คอมพิวเตอร์มากขึ้น
เทคโนโลยีสารสนเทศมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ เป็นอย่างมาก ดังนี้
            1)  ด้านวิชาการ เทคโนโลยีสารสนเทศช่วยในการค้นคว้าศึกษาแหล่งข้อมูล ทำให้การศึกษาง่ายขึ้นและไร้ขีดจำกัด ผู้เรียนมีความสะดวกในการศึกษาค้นคว้าวิจัย
             2)  การดำรงชีวิตประจำวัน ช่วยให้มีความสะดวกคล่องตัวและรวดเร็วในการทำกิจกรรมต่าง ๆ สามารถทำงานได้หลายอย่างในเวลาเดียวกัน ช่วยให้การทำงานใช้เวลาน้อยลง
            3)  การดำเนินธุรกิจ ทำให้มีการแข่งขันระหว่างธุรกิจมากขึ้น ทำให้ต้องมีการพัฒนาองค์กรเพื่อให้ทันกับข้อมูลข่าวสารอยู่ตลอดเวลา ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่อง
            4)  ด้านการติดต่อสื่อสาร ความเจริญก้าวหน้าของวิทยาการต่างๆ และปรากฏการณ์โลก
ไร้พรมแดน   ทำให้ผู้คนในสังคมมีการติดต่อสื่อสารซึ่งกันและกัน   ได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง
            5)  ด้านผลผลิต ระบบการทำงานที่ใช้คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือ จะช่วยให้ทำงานได้มากขึ้น หรือช่วยลดความเสี่ยงในงานบางอย่างโดยใช้คอมพิวเตอร์ทำงานแทนซึ่งได้ผลถูกต้องรวดเร็ว
ลักษณะสารสนเทศที่ดี
      สารสนเทศที่ดีและมีประโยชน์ในการใช้งานควรมีลักษณะดังนี้
ด้านเนื้อหา (Content)
          -  ความสมบูรณ์ครอบคลุม  (completeness)
          -  ความสัมพันธ์กับเรื่อง  (relevance)
          -  ความถูกต้อง  (accuracy)
          -  ความเชื่อถือได้  (reliability)
         -  การตรวจสอบได้  (verifiability)
ด้านรูปแบบ (Format)
         -  ชัดเจน  (clarity)
        -  ระดับรายละเอียด  (level of detail)
        -  รูปแบบการนำเสนอ  (presentation)
        -  สื่อการนำเสนอ  (media)
         -  ความยืดหยุ่น  (flexibility)
ด้านประสิทธิภาพ  (efficiency)
         -  ประหยัด  (economy)
         -   เวลา  (Time)
         -  ความรวดเร็วและทันต่อเหตุการณ์  (timely)
         -   การปรับปรุงให้ทันสมัย  (up-to-date)
          -  มีระยะเวลา  (time period)
ด้านกระบวนการ (Process)
        -  ความสามารถในการเข้าถึง  (accessibility)
        -  การมีส่วนร่วม  (participation)
        -  การเชื่อมโยง  (connectivity)

1.4 เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่ใช้ในชีวิตประจำวัน

ในสังคมปัจจุบันไม่ว่าใครจะอยู่ที่ใด  แม้ในเมืองหรือชนบทก็ตาม  ย่อมมีการติดต่อสื่อสารกับบุคคลหรือสังคมอื่นอยู่เสมอไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง  เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็น หรือการรับรู้ข้อมูลข่าวสารในชีวิตประจำวันด้วยสื่อต่างๆ  เช่น  หนังสือพิมพ์  วิทยุกระจายเสียง  วิทยุโทรทัศน์ โทรศัพท์  โทรสาร  ล้วนเป็นการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศทั้งสิ้น  นอกจากนี้ยังใช้เทคโนโลยีเครื่องมือหรือกลไกเพื่ออำนวยความสะดวก  เช่น  การถอนเงินจากเครื่องจ่ายเงินอัตโนมัติ  (ATM : Automatic Teller/Technology Machine)  การสแกนลายนิ้วมือการเข้าปฏิบัติงานในสำนักงาน  การจ่ายค่าโดยสารรถไฟฟ้า ผ่านบัตรแถบแม่เหล็ก  เป็นต้น  เหล่านี้เป็นตัวอย่าง การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ
           ในชีวิตประจำวัน  ยิ่งไปกว่านั้น  ความเจริญก้าวหน้าของวิทยาการใหม่ๆ  ก่อให้เกิดเครื่องมือหรือวิธีการในการอำนวยความสะดวกในการใช้บริการอย่างรวดเร็ว เช่น การทำบัตรประจำตัวประชาชน สามารถให้บริการโดยเชื่อมต่อ ระบบออนไลน์  (online system)  ซึ่งเป็นระบบสายตรงที่มีประโยชน์และเป็นตัวอย่าง ของการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่จำเป็น กรณีตัวอย่าง เช่น การรับบริการรักษาพยาบาลตามโรงพยาบาล  ปัจจุบันใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมาบริหารจัดการ  โดยผู้ป่วยสามารถบอกชื่อ  นามสกุล  ที่ถูกต้อง  เจ้าหน้าที่ก็สามารถเรียกเวชระเบียนออกมาได้อย่างรวดเร็วเพราะโรงพยาบาลมีระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์เชื่อมโยงกันอย่างทั่วถึงทำให้เวชระเบียนที่อยู่ในรูปแบบของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ถูกส่งจากคอมพิวเตอร์แม่ข่ายไปปรากฏบนจอคอมพิวเตอร์ในห้องตรวจของแพทย์ได้ทันที  เมื่อแพทย์ทำการตรวจวินิจฉัยโรค  สามารถสั่งการรักษาหรือสั่งยา  จากห้องแพทย์ไปสู่ แผนก  X - RAY แผนกจ่ายยา  ได้อย่างถูกต้อง  รวดเร็ว  และมีประสิทธิภาพ